สนามข่าวเสาร์-อาทิตย์ - สัปดาห์หน้าคงต้องจับตาแนวทางปรับลดค่าไฟฟ้า ซึ่งกระทรวงพลังงาน รับปากจะมีข่าวดีในวันที่ 8 ธันวาคม เบื้องต้นคาดว่าอาจลดค่าไฟฟ้างวดหน้าลงได้ 48 สตางค์ แต่เอกชนก็ใช่ว่าจะพอใจ เพราะต้องการราคาเดิมหน่วยละ 3 บาท 99 สตางค์
เอกชน ไม่ทนขอตรึงค่าไฟฟ้าหน่วยละ 3.99 บาท
กรณี คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. มีมติปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ หรือ Ft งวดเดือนมกราคม ถึงเดือนเมษายนปีหน้า เป็นหน่วยละ 4 บาท 68 สตางค์ ด้านนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ย้ำต้องการให้ภาครัฐตรึงค่าไฟฟ้าเฉลี่ยที่เรียกเก็บกับประชาชนทุกประเภทไว้ที่หน่วยละ 3 บาท 99 สตางค์ไปก่อน ระหว่างนี้ให้เร่งจัดตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านพลังงาน เพื่อพิจารณาแนวทางการปรับโครงสร้างราคาไฟฟ้าทั้งระบบ โดยเชื่อว่าหากเร่งดำเนินการ จะได้ข้อสรุปถึงโครงสร้างราคาค่าไฟทั้งระยะสั้น กลาง ยาว ในเร็ว ๆ นี้ โดยเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงค่าไฟฟ้าทุก ๆ 4 เดือน อาจกระทบต่อความเชื่อมั่นของภาคการผลิตและภาคการลงทุน เพราะเอกชนต้องมารอลุ้นกันทุก 4 เดือน
จ่อของบฯ กลางช่วยค่าไฟฟ้ากลุ่มเปราะบาง
เรื่องนี้ ด้านนายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กำลังเตรียมหารือกับ กกพ. และสำนักงบประมาณ เพื่อของบฯกลางมาช่วยเหลือ เพื่อลดค่าไฟฟ้าสำหรับกลุ่มเปราะบาง และเพื่อหาช่องทางลดค่าไฟฟ้า เพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพให้ประชาชน
เบื้องต้นคาดว่าจะลดค่าไฟฟ้าให้เหลือได้ประมาณ 4.20 บาทต่อหน่วย ส่วนสาเหตุที่ทำให้ค่าไฟฟ้าปรับขึ้น มาจากการคำนวณต้นทุนค่าเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งราคาผันผวนในระดับสูง เป็นผลมาจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน และในช่วงนี้เป็นช่วงฤดูหนาวของกลุ่มประเทศตะวันตก ทำให้ความต้องการก๊าซธรรมชาติเพิ่มสูงขึ้น
หวั่นคนไทยอ่วม จ่ายค่าไฟฟ้าหน่วยละ 6 บาท
ด้านนายศุภโชติ ไชยสัจ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ส่งคำถามถึงนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ปมค่าไฟฟ้า รัฐบาลต้องการจะยืดหนี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ราว 95,777 ล้านบาท เพื่อตรึงค่าไฟอีกหรือไม่ หวั่นท้ายที่สุดแล้วประชาชนจะต้องจ่ายหนี้กว่า 140,000 ล้านบาท ขณะที่ กฟผ.อาจขาดสภาพคล่อง ย้ำอีกรอบ แก้ปัญหาค่าไฟต้องปรับโครงสร้าง และสะสางหนี้ให้หมด เคยเสนอเรื่องนี้ต่อรัฐบาลมาหลายครั้ง ตอบรับ แต่กลับไม่เอาไปทำ พร้อมทิ้งคำถาม ทำไมอยู่ดี ๆ ค่าไฟถึงขึ้นไปอย่างก้าวกระโดดขนาดนี้ ทั้งที่จริงแล้วต้นทุนค่าไฟของต้นปีหน้าอยู่ที่แค่ 4 บาท 5 สตางค์ หรือมีส่วนเกิน 64 สตางค์มาจากไหน และหากมีการตรึงค่าไฟงวดหน้าไว้ที่ 3 บาท 99 สตางค์ มูลค่าหนี้ค้างจ่ายจะเพิ่มสูงขึ้นแตะ 140,000 ล้านบาท และสุดท้ายเมื่อหมดโพรโมชัน ผู้ใช้ไฟอาจต้องควักกระเป๋าจ่ายค่าไฟฟ้าสูงถึงหน่วยละ 6 บาท ถึงเวลาแล้วที่จะต้องปรับโครงสร้างราคาให้เสร็จสิ้น
โครงสร้างราคาก๊าซธรมชาติ บิดเบี้ยว ปมค่าไฟฟ้าแพง
ปัญหาค่าไฟฟ้า รวมถึงเชื้อเพลิงน้ำมัน เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่พูดกันมายาวนานหลายปี ซึ่งย้อนไปดูข้อมูลจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ก็เคยระบุชัดว่า ปัญหาใหญ่ ๆ มี 2 ประเด็นนั่น คือ 1.ประสิทธิภาพธุรกิจพลังงานไทย ซึ่งมีการผูกขาด ทำให้ตลาดไม่มีการแข่งขัน และการที่ภาครัฐเข้ามากำหนดราคาพลังงาน ทำให้โครงสร้างราคาบิดเบือน
และ 2.สิทธิของประชาชนที่จะได้ใช้ก๊าซราคาถูกจากอ่าวไทย ซึ่งตามโครงสร้างมาจาก 3 แหล่ง คือ อ่าวไทย เมียนมา และการนำเข้าจากต่างประเทศ โดยก๊าซอ่าวไทยที่ผลิตได้ 20 ของปริมาณการผลิต ถูกส่งผ่านท่อก๊าซไปที่โรงแยกก๊าซ ที่เหลืออีก 80 ส่งไปที่โรงไฟฟ้า สถานีบริการก๊าซเอ็นจีวี บางส่วนส่งไปที่ภาคอุตสาหกรรม
ที่บอกว่ามีปัญหาผูกขาด มี 2 ส่วนด้วยกัน คือ โรงแยกก๊าซ กับสถานีขนส่งก๊าซ ที่นำเข้าจากต่างประเทศ จากนั้นจะถูกส่งผ่านท่อไปที่โรงแยกก๊าซ 6 แห่งที่มีบริษัท ปตท. เป็นเจ้าของ โดยผลผลิตที่ได้จากโรงแยกก๊าซ อาทิ โพรเพน บิวเทน สารหล่อลื่น มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยอย่างมาก เพราะเป็นวัตถุดิบขั้นพื้นฐานที่จะนำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น ใยสังเคราะห์ พลาสติก รถยนต์ จุดนี้หากธุรกิจโรงแยกก๊าซไม่เปิดให้มีการแข่งขัน พัฒนาการของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีอาจจะไม่ดีเท่าที่ควร ทีดีอาร์ไอ เคยเสนอให้แยกกิจการท่อก๊าซ และแยกกิจการโรงแยกก๊าซด้วย จะได้ไม่เกิดการเลือกปฏิบัติ เช่น ไม่ใช่บริษัทลูกก็ไม่ขายให้ หรืออาจขายให้ในราคาแพงกว่า
ส่วนประเด็นปัญหาโครงสร้างราคาบิดเบือน ทำให้ผู้ประกอบการขาดแรงจูงใจ ไม่อยากเพิ่มกำลังการผลิต เพราะผลิตออกมาแล้วขายได้ราคาไม่ดี ทำให้ปริมาณการผลิตก๊าซในประเทศต่ำ แต่มีความต้องการใช้จำนวนมาก เกิดช่องว่าง จึงต้องนำเข้าก๊าซจากต่างประเทศมาใช้นั่นเอง
ติดตามช่อง CH7HD News ได้ที่ : https://cutt.ly/YTch7hdnews
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ https://news.ch7.com
#สนามข่าวเสาร์อาทิตย์ #ข่าวช่อง7 #CH7HDNEWS
ติดตาม CH7HD News และ TERO Digital ได้ที่ : https://linktr.ee/ch7hdnews_tero